Donate

วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

5 เทคนิคฝึก"ระเบียบ"ลูกสไตล์ญี่ปุ่น

5 เทคนิคฝึก"ระเบียบ"ลูกสไตล์ญี่ปุ่น

"ชิจิดะ โก" อีกหนึ่งคุณพ่อชาวญี่ปุ่นที่ชื่อของเขาเริ่มเป็นที่คุ้นหูในเมืองไทย กับตำแหน่งประธานสถาบัน Shichida Educational และแนวทางการฝึกสมองทั้งสองด้านของลูกตั้งแต่ ยังเป็นทารก ซึ่งในวันที่เขาบินลัดฟ้ามาถึงเมืองไทย ทีมงาน Life & Family ได้มีโอกาสพูดคุย และเก็บเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนลูกสไตล์คนญี่ปุ่นผ่านจิตใจภายในของคนเป็นพ่อแม่ผู้ อาศัยอยู่ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระเบียบวินัยเคร่งครัด ให้ความสำคัญประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน และยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น โดยคุณโกได้เผยถึง 5 จุดเด่นที่เห็นได้ชัดของชาวญี่ปุ่น และเทคนิคในการฝึกลูกเอาไว้ดังนี้

1. เลี้ยงลูกให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ

ในจุดนี้ คุณโกกล่าวว่า หากเป็นไปได้ คนญี่ปุ่นจะนิยมเลี้ยงลูกอยู่นอกเมือง เพื่อให้ลูกได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้สัมผัสกลิ่นดินกลิ่นทรายมากกว่าการมีบ้านอยู่ในตัวเมืองใหญ่ โดยพ่อแม่จะเป็นผู้เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองเอง เพื่อให้เด็กยังคงมีความเป็นเด็ก ไม่ถูกสังคมเมืองหล่อหลอมจนหลงไหลในวัตถุเร็วเหมือนเช่นที่เกิดกับเด็กในอีก หลาย ๆ ประเทศ

"เด็กที่อาศัยอยู่นอกเมืองจะมีเพื่อนเล่นในวัยเดียวกัน และมีช่องว่างกับชุมชนน้อยกว่า ทำให้เด็กมีความผูกพันกับชุมชน และได้ใช้เวลาในวัยเด็กอย่างคุ้มค่า ต่างจากเด็กที่ต้องอาศัยอยู่ในตัวเมือง เพราะต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดันตลอดเวลา"


2. สร้างจิตสาธารณะ

เมื่อเด็กมีความผูกพันกับชุมชน และสังคมที่เขาอาศัยอยู่แล้ว การสร้างจิตสำนึกให้เด็กเห็นแก่ผลประโยชน์ของส่วนรวมมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตน ก็ตามมาในลำดับต่อไป โดยในข้อนี้ สังคมที่เด็กอาศัยอยู่จะร่วมกันกล่อมเกลาเขาอย่างช้า ๆ โดยถือว่าเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องร่วมกันทำ

"เรื่องของจิตสาธารณะ ผมมองว่า เราอาศัยแต่ครอบครัวอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทุกคนในสังคมต้องช่วยกันทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ยกตัวอย่างการเสียสละประโยชน์ส่วนตน เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมาก่อน หากทุกคนทำได้ก็จะช่วยให้การทำงานต่าง ๆ ของทุกฝ่ายลุล่วง สำเร็จลงด้วยดี เมื่อส่วนรวมได้ประโยชน์ ความสุขเหล่านั้นก็สะท้อนกลับมาสู่ครอบครัวในที่สุด"

การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตนที่เห็นได้ชัดเป็นอันดับต้น ๆ ของชาวญี่ปุ่นคือการต่อแถวอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีการแซงคิวให้เป็นที่ระอาใจของผู้อื่น หรือการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด การร่วมแรงร่วมใจกันในงานกิจกรรมของชุมชน ฯลฯ


3. ตรงต่อเวลา

สำหรับการสอนให้ลูกตรงต่อเวลานั้นคงเป็นเรื่องยากหากสังคมโดยรวมไม่ยอมรับ กติกาข้อนี้ แต่สำหรับในประเทศญี่ปุ่นนั้น กิจการใหญ่ ๆ เช่น การเดินรถไฟของญี่ปุ่นทั้งแบบชินคันเซ็น หรือแบบโลคอล (วิ่งเฉพาะในเมือง) ต่างก็บริหารจัดการ "เวลา" กันอย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการวางกำหนดเวลาแน่นอน หรือแม้แต่รถประจำทางเองก็ตรงต่อเวลา ไม่ผิดเพี้ยนแม้แต่น้อย การสร้างสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันของเด็ก คุณโกระบุว่า เป็นการปลูกฝังให้เด็ก ๆ กลายเป็นคนเห็นคุณค่าของ "เวลา" ไปโดยปริยาย

4. ไม่ปกป้องลูกเมื่อทำผิด

สิ่งที่พ่อแม่ที่ต้องการอบรมสั่งสอนให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นคนดี มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนพึงตระหนักอีกข้อหนึ่งคือ หากพบว่าลูกไปสร้างความเสียหาย ทำความเดือดเนื้อร้อนใจ หรือละเมิดผู้อื่น พ่อแม่ต้องตักเตือนในทันที และถ้าเป็นพ่อแม่ที่ดีก็ต้องหาทางทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมดังกล่าวให้ได้ โดยคุณโกระบุว่า พ่อแม่ที่ไม่ดี ก็คือพ่อแม่ที่เห็นการกระทำดังกล่าวของลูกแล้วเพิกเฉย นั่นเอง

5. ให้กำลังใจลูก

การเลี้ยงดูเด็กในยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเครียดต่าง ๆ รายล้อมอยู่รอบตัว พ่อแม่จึงควรใช้การพูดคุย ให้กำลังใจลูก ๆ ยามเผชิญหน้ากับความเครียด ซึ่งความเครียดของเด็กญี่ปุ่นใน พ.ศ.นี้หนีไม่พ้น การแข่งขันด้านวิชาการ เพื่อจะได้สอบเข้าในโรงเรียนดี ๆ มหาวิทยาลัยดี ๆ เพื่อให้มีการงานดี ๆ ทำ

"อาจมีเด็กบางคนไม่สนใจเรียน และทำให้พ่อแม่ต้องผลักดันลูกให้มาก ๆ เพื่อที่ลูกจะได้เป็นคนเก่ง แต่ในจุดนี้อยากให้พ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กว่าไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกคน และควรใช้การสอน หรือการให้กำลังใจในการกระตุ้นลูกมากกว่า"

"ความคาดหวังของพ่อแม่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่อยากให้บังคับลูกมากเกินไป เพราะถ้าบังคับให้เรียน เด็กจะรู้สึกถึงภาระหนักอึ้ง วันหนึ่งเขาอาจจะปฏิเสธได้ แต่ถ้าเรียนไปตามธรรมชาติ เด็กก็จะเหมือนฟองน้ำที่ดูดซับความรู้เข้ามาได้เอง จึงไม่รู้สึกกดดันหรือเครียด นอกจากนั้น ควรให้เด็กได้มีประสบการณ์ในด้านอื่นบ้าง เช่น รู้จักช่วยเหลือสังคม หรือคนรอบข้างด้วย" คุณโกกล่าวทิ้งท้าย


Cr: พีกา ซัส

...